เรื่องและภาพ : ธีรภาพ โลหิตกุล
รวมเล่ม : สามทศวรรษสายน้ำและความทรงจำ


คนโบราณขนานนามตามจุดเด่นของเขาว่า “ปลาเสือพ่นน้ำ” เพราะมีกระพุ้งปากที่แข็งแรงขนาดอมน้ำไว้มากๆ แล้วพ่นออกมาได้แรงและสูงถึงเกือบสองเมตร นี่คืออาวุธร้ายที่ใช้ยิงแมลงที่เกาะตามต้นข้าวและกิ่งไม้ชายน้ำให้ตกลงมาเป็นอาหารจานโปรด นั่นหมายถึงต้องมีสายตาที่แหลมคมทะลุผิวน้ำ บวกความแม่นยำในการกะทิศทาง และระยะห่างของเหยื่อได้เฉียบขาดราวจอมขมังธนู

๑.
ห้วงยามที่เคยเป็นมนุษย์เงินเดือน บ่ายวันไหนฝนตก ข้าพเจ้าสุขใจเมื่อได้นั่งมองเม็ดฝนสาดกระเซ็น จนหน้าต่างสำนักงานกลายเป็นห้องแสดงงานศิลปะขนาดใหญ่ เมื่อมองผ่านกระจกออกไปจากห้องประชุมชั้น ๕ เห็นกรุงเทพมหานครที่มั่งคั่งด้วยตึกสูง สะพานลอย ทางด่วน และรถราแน่นถนน พร่าเลือนอยู่ในกรอบหน้าต่างเปื้อนเม็ดฝนแห่งวัสสานฤดู คำนี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา กำหนดคำอ่านว่า วัด-สา-นะ-รึ-ดู เป็นคำบาลี แปลว่า ฤดูฝน ไม่ใช่ “วสันตฤดู” อย่างที่เข้าใจกัน เพราะ “วสันตฤดู” เป็นคำบาลี และสันสกฤต หมายถึงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นฤดูที่ไม่มีในประเทศเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทยเรา

ครั้นเมื่อเม็ดฝนสร่างซาลง ก็เป็นอันได้เวลาแกลเลอรี่ปิด งานศิลป์ที่เสมือนหนึ่งภาพวาดในใจเราก็แปลงร่างกลายเป็นดั่งปีศาจร้ายเที่ยวหลอกหลอนคนกรุง เมื่อสิ่งที่ตามมาหลังฝน คือน้ำท่วม การจราจรติดขัดแทบจลาจลกันทั้งเมือง ฤดูฝนในเมืองใหญ่มันสาหัสสากรรจ์อย่างนั้นจริงๆ ทั้งๆ ที่ห่างออกไปไม่กี่สิบกิโลเมตร ในพื้นที่ที่เป็นเมืองไทย คนไทยเหมือนกัน แต่หน้าฝนของเขากลับเป็นวันเวลาแห่งความสุข เพราะสายฝนได้ประทานความเขียวขจีอันอิ่มเอมทั้งหัวใจและปากท้องให้ชาวนาชาวไร่ ยิ่งยามน้ำหลากท่วมทุ่งนาด้วยแล้ว กุ้งหอยปูปลาจะชุกชุมเป็นที่สุด ชอบใจเวลาคนโบราณเขาอุปมาอุปไมย บางครั้งฟังเหมือนเกินจริงสักหน่อย แต่เขาเปรียบเปรยได้ชัดเจนดี เขาบอกว่าปลาในลุ่มเจ้าพระยาแต่ไหนแต่ไรนั้น มันชุกชุมขนาดโยนก้อนหินลงไปในแม่น้ำ…ไม่มีวันจม!

ตำนานยิ่งใหญ่ของปลาไทยในลุ่มเจ้าพระยา ทำให้ข้าพเจ้าพึงใจจะได้รับรู้เรื่องราวของปลาตัวเล็กๆ ที่น่ารักตัวหนึ่ง ปลาที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรในทางเศรษฐกิจเหมือนปลาเนื้อหวานอย่างปลาม้า ปลาน้ำเงิน ปลายี่สก หรือเทโพ เทพา แต่ก็ได้ก่อคุณูปการให้วงการประมงเมืองไทยไว้เงียบๆ ทว่าสำคัญนัก

๒.

95229026 676786023121344 2065054992137453568 n

คนโบราณขนานนามตามจุดเด่นของเขาว่า “ปลาเสือพ่นน้ำ” เพราะมีกระพุ้งปากที่แข็งแรงขนาดอมน้ำไว้มากๆ แล้วพ่นออกมาได้แรงและสูงถึงเกือบสองเมตร นี่คืออาวุธร้ายที่ใช้ยิงแมลงที่เกาะตามต้นข้าวและกิ่งไม้ชายน้ำให้ตกลงมาเป็นอาหารจานโปรด นั่นหมายถึงต้องมีสายตาที่แหลมคมทะลุผิวน้ำ บวกความแม่นยำในการกะทิศทาง และระยะห่างของเหยื่อได้เฉียบขาดราวจอมขมังธนู ฝรั่งมังค่าที่รู้จักแต่ปลาพ่นน้ำในอะเมซอน มาเห็นเข้าก็ถึงกับตะลึงพรึงเพริด แล้วขนานนามเขาว่า “จอมขมังธนูแห่งลุ่มเจ้าพระยา” (Archer Fish of Chao Phraya Basin)

จากการเฝ้าสังเกตของนักชีววิทยาในห้องทดลอง ยังพบว่าในกรณีที่ยิงพลาด ปลาเสือพ่นน้ำยังสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางยิงได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว ชนิดที่เหยื่อไม่ทันตั้งตัว และหากยิงแล้วเหยื่อเกาะต้นข้าวแน่น ไม่ยอมตกลงมา มันก็จะเรียกเพื่อนๆ มาช่วยกันระดมยิง หรือบางทีก็อาจจะกระโดดลอยตัวขึ้นเหนือน้ำ พร้อมกับงับเหยื่อเข้าปากอย่างแม่นยำ พฤติกรรมอันมหัศจรรย์ของปลาเสือพ่นน้ำ ทำให้วงการสัตววิทยาโลกต้องบันทึกใหมว่า ในโลกนี้มีปลาที่พ่นน้ำได้อยู่สองแห่ง คือลุ่มแม่น้ำอะเมซอน กับแม่น้ำเจ้าพระยาในราชอาณาจักรสยาม และทำให้นักวิทยาศาสตร์การประมงคนสำคัญของโลกคนหนึ่ง ตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน มาทำงานค้นคว้าวิจัยเรื่อง “ปลาสยามในแม่น้ำเจ้าพระยา” ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ ๖ กระทั่งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็น “เจ้ากรมประมง” ผู้วางรากฐานให้กิจการประมงไทยเติบใหญ่ในวันนี้

วันที่ประวัติศาสตร์จารึกชื่อ ดร.ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ (Dr.Hugh McCormick Smith ) พ.ศ. ๒๔๐๘ นักชีววิทยาชาวอเมริกัน  ไว้คู่กับปลาเสือพ่นน้ำ – จอมขมังธนูแห่งลุ่มเจ้าพระยา เพราะท่านเป็นบุคคลแรกที่บันทึกเรื่องของปลาชนิดนี้ รายงานไปให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ ดร.สมิธ เป็นผู้เชี่ยวชาญชีววิทยาทางทะเล และกำกับดูแลงานศึกษาและสำรวจธรรมชาติในสถาบันการศึกษาชั้นสูงของสหรัฐอเมริกา กระทั่ง พ.ศ.๒๔๕๐ ได้เดินทางพร้อมคณะนักสำรวจมาที่ ฟิลิปปินส์ ในฐานะกรรมการ “สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก” สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก เพื่อสำรวจความหลากหลายของธรรมชาติในภูมิภาคนี้ ก่อนเดินทางสู่สยามประเทศ ด้วยปรารถนาจะศึกษาปลาเสือพ่นน้ำเป็นกรณีพิเศษ

ประจวบเหมาะกับเวลานั้น ทางการสยามได้จัดตั้งหน่วยเพาะพันธุ์ปลา หรือหน่วยงานบำรุงรักษาสัตว์น้ำ ขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ จึงแต่งตั้ง ดร.สมิธ เป็นที่ปรึกษา (Adviser in fisheries to His Siamese Majesty’s Government) แล้วทำการสำรวจสัตว์น้ำในน่านน้ำจืด และในทะเลทั่วราชอาณาจักร พร้อมจัดหมวดหมู่ไว้ในหนังสือ “อนุกรมวิธาน” อย่างดีเยี่ยม จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้เป็น “เจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ” ( กรมประมง) คนแรกของสยาม ในปี ๒๔๖๙

ดร.สมิธค้นพบ”สปีชีส์” ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์ปีก พรรณพืช และทำอนุกรมวิธานไว้ไม่ต่ำกว่า ๒๕ ชนิด อาทิ  ปลาเทพา  ปลาบู่รำไพ ฯลฯ และมีผลงานเป็นหนังสือที่ยังใช้อ้างอิงจนถึงปัจจุบันคือ The Fresh Water Fishes of Siam, or Thailand กล่าวได้ว่าสังคมไทยเป็นหนี้บุญคุณปลาเสือพ่นน้ำ ที่ชักนำดร.ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ มาสร้างคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงให้การประมงสยาม เป็นรากฐานที่มั่นคงของกรมประมงไทยในวันนี้