๏ ถึงงิ้วรายหมายคุ้งมุ่งเขม้น              

พี่แลเห็นต้นงิ้วเป็นทิวแถว

แต่ตัวน้องพี่มองไม่เห็นแล้ว                

เห็นแต่แนวแม่น้ำนั้นร่ำไปฯ

นิราศพระแท่นดงรัง  : หมื่นพรหมสมพัตสร (นายมี) หรือเสมียนมี

ปีที่แต่ง : พ.ศ. ๒๓๗๙

ขนมไทยโบราณที่มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ขนมสอดไส้” นิยมนำไปทำบุญตักบาตร เป็น ๑ ในขนม ๙ อย่าง ที่ใส่ขันหมากโทคู่ขันหมากเอกในพิธีการสู่ขอเจ้าสาว  สืบเนื่องจากกรรมวิธี ต้องผ่านความร้อนถึง ๓ ครั้ง ด้วยการกวนไส้ กวนกะทิ และนำไปนึ่งให้สุก คนโบราณจึงเรียกขนมนี้ว่า ขนม ๓ ไฟ เป็นขนมที่ใช้แป้งข้าวเหนียวขาวและแป้งข้าวเหนียวดำ ห่อหุ้มไส้ข้างใน ทำจากมะพร้าวเคี่ยวน้ำตาล หยอดด้วยแป้งข้าวเจ้า กะทิ และเกลือ ที่กวนสุก จากนั้นก็ห่อด้วยใบตองให้เป็นทรงสูงคาดด้วยทางมะพร้าว (เตี่ยว) มีรสชาติ กลมกล่อม  มัน นุ่มและหวานจากตัวไส้

 

ชุมชนโรงหวดตำบลงิ้วราย คุณทองย้อย ดิษฐกองทอง ครูภูมิปัญญาวัย ๘๐ กว่าปีที่ทำขนมสอดไส้ จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในนาม “ขนมสอดไส้จิ๋วแม่ทองย้อย ดิษฐกองทอง” เคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดขนมใส่ไส้ในงานชุมนุมสตรีจังหวัดนครปฐม เนื่องในปีสตรีสากล พ.ศ. ๒๕๓๗ และประกาศเกียรติคุณ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เล่าถึงขนมไทยโบราณที่สร้างรายได้หล่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขและความภาคภูมิใจ

“ฉันทำขนมสอดไส้มาตั้งแต่อายุ ๓๐ ปี เมื่อก่อนทำเสร็จก็ขึ้นรถไฟจากสถานีวัดงิ้วรายไปขายที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ตี ๔-๕ ไปถึงโรงพยาบาลหมอบางท่านก็ให้ขึ้นไปส่งในอาคาร คุณเอ๊ย! ของก็อยากจะขาย ผีก็กลัว แต่นึกถึงหน้าลูก ๆ เอาก็เอาวะ! ”  เสียงหัวเราะและรอยยิ้มสะท้อนถึงความสุข คนเราย่อมมีคืนวันอันเศร้า ทุกข์ โศกอยู่กับชะตากรรม ที่ต้องใช้ความอดทน เข้มแข็ง กระทั่งวัยวัน ๘๐ กว่าปีที่ก้าวข้ามมาสู่อีกฟากฝั่ง แล้วก็ยังทำขนมสอดไส้จิ๋วขายอยู่กระทั่งปัจจุบัน 

“ถามว่าขนมฉันอร่อยไหม? ฉันไม่รู้ แต่ที่รู้คือขายเลี้ยงตัวเองและเลี้ยงลูก ส่งเสียจนพวกเขาเติบโตและเรียนจบ คุณว่าอร่อยไหมล่ะ”

“อยากให้รุ่นลูกรุ่นหลานช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานตำรับขนมสอดไส้จิ๋ว ให้คงอยู่ต่อไปในชุมชนโรงหวด”

คุณทองย้อย ดิษฐกองทอง

จากหนังสือ : ตำรับเก่าเล่าเรื่อง ณ เมืองนครชัยศรี

จัดพิมพ์โดย

โครงการวิจัยจากเก่าสู่เก๋า นวัตกรรมอาหารไทยโบราณ-มรดกทางวัฒนธรรม ที่ล้ำค่าของมณฑลนครชัยศรี
ผศ.ดร.ศริยามน ติรพัฒน์ : ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย
เรียบเรียงและภาพประกอบ : สุชาติ ชูลี