บันทึกคนหลงทาง : อัยย์ รินทร์
ทุกครั้งที่มีโอกาสได้กลับไปบ้านทานพอ อ.ฉวาง สิ่งที่ลืมไม่ได้นอกจากการขึ้นไปชมวิวเขาศูนย์ก็คือการเดินข้ามทางรถไฟสถานีทานพอ โดยมีเป้าหมายคือร้านขายขนมหวักที่ตั้งอยู่หน้าห้องแถวสามชั้น บริเวณสี่แยกตลาดทานพอแม้ไส้ในจะไม่เหมือนเมื่อก่อนก็คงเป็นเรื่องของต้นทุนที่ต้องสอดคล้องกับราคาเพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อไปรับประทานได้เกือบ ๒๐ ปีที่อดีตนักศึกษาการบัญชีโรงเรียนพณิชยการธนบุรี (ปัจจุบัน-วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี)กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดทำงานได้ไม่นานก็ตัดสินใจทำมาค้าขาย “ขนมหวัก” แรกเริ่มเดิมทีต้องใช้เวลาในการเรียนรู้
“เนี่ย! ป้าว่าจะเลิกขายแล้วให้น้องชายขายแทน คุณรู้ไหมป้าต้องตื่นตั้งแต่ตี ๒ บางทีก็ตี ๓ เพื่อเตรียมแป้ง เตรียมไส้ โอ้ย ! แต่ก็อดใจไม่ได้ เห็นลูกค้าวนเวียนมาซื้อมาหา”พูดพลางใช้ตะแกรงช้อนขนมหวักกลับให้สีเท่ากัน ปกติกแล้วผมไม่ค่อยได้พูดคุยอะไรกับเธอมากนัก แต่ในวันนี้ หลังได้ยินคำว่า “เลิกขาย”ผมจึงสั่งขนมหวักร้อน ๆ แกล้มกาแฟสดจากร้านสะดวกซื้อไปพลาง ๆ ระหว่างรอ
“ป้าใช้แป้งอะไรทำครับ?”
“งั่นแน่ จะแอบไปทำนะขายนะสิ”เธอยิ้มที่มุมปากในขณะที่มือกำลังง่วนอยู่กับการตักแป้ง ใส่ไส้แล้วลงกระทะ
“ปกติป้าไม่บอกใครง่าย ๆ หรอกนะ ” ว่าแล้วเธอก็ร่ายยาวสูตรตั้งแต่แป้ง ต้องเตรียมอย่างไร ไส้ต้องทำอย่างไร แม้แต่ขนมหวักเจ้าอื่น ๆ ที่เธอรู้จักก็ยังสำทับให้ไปลิ้มลอง วันต่อมาหลังซื้อหวักใส่บาตรเสร็จ
“เออ! ป้าลืมบอกขั้นตอนการทำน้ำจิ้มไปเนี่ยต้องเริ่มจากทำอย่างนี้นะทำแบบนี้นะ”
เพียงประโยคสั้นๆ พลันนึกย้อนไปเมื่อครั้งวันวานภาพของแม่ค้าขนมจีนน้ำยาที่คอยหยิบส่วนผสมเครื่องปรุงลงในครกก่อนจะกระแทกสากตำๆ ส่วนผสมจนแหลกละเอียด แต่ผมไม่เอาไหนจึงไม่ค่อยจดจำ
บางเรื่องราวที่ถูกกลบฝังอยู่ในความทรงจำ บางครั้งก็คิดว่าลืมไปเสียแล้ว แต่ความเป็นจริงมันยังอยู่ยังวนเวียนเป็นภาพฝันหรือบางคราหากมีสิ่งใดไขกุญแจเผยให้ระลึกถึงอีกครั้ง
ขณะนั่งจิบกาแฟสดจากร้านสะดวกซื้อเจ้าเดิมแกล้มขนมหวักสายตาจับจ้องไปยังศูนย์โทรคมนาคม และวิหารพระนอน เป็นภาพที่คุ้นชินมาตั้งแต่วัยเยาว์ทั้งยังได้รับฟังเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นบนขุนเขาที่โด่งดังในอดีตจากการทำเหมืองแร่วุลแฟรมที่โด่งดัง
“ป้าครับ วันนี้ผมกลับแล้วนะ ขอเบอร์โทร หรือไลน์ได้ไหม”
“อ้าวกลับแล้วเหรอ! เออเอาเบอร์และไลน์ไปด้วย ติดขัดสงสัยอะไรก็ถามมาได้เลยนะ ” ผมเดินจากมาในขณะที่แม่ค้าขนมหวักยังคงง่วนอยู่กับการคีบขนมหวักใส่ถุงให้กับลูกค้าที่มาซื้อ…
“ขนมหวัก” หรือ “หนมหวัก”
ที่มาซึ่งภาษาปักษ์ใต้เรียก ทัพพีว่า “หวัก”
ขนมไทยพื้นบ้านของภาคใต้ ส่วนผสมของขนมหวัก ได้แก่ แป้งถั่วเหลือง กุ้งสด ถั่วงอก และน้ำจิ้ม สูตรการทำขนมหวักนั้น จะนำถั่วเหลืองมาบดเป็นแป้งใส่ในหวัก หรือทัพพี ทรงครึ่งวงกลม โดยใส่ไส้ที่ทำจากหมูสับ ผักชี แล้วทับด้วยแป้งถั่วเหลือง(ปัจจุบันไส้อาจเปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจ) นำไปทอดน้ำมันร้อนๆ ในกระทะทั้งจวัก จนแป้งสุกได้ที่เป็นสีเหลืองทองอร่าม แล้วยกมาแกะออก ซึ่งเมื่อสุกแล้วรูปร่างของขนมหวักจะคล้ายซาลาเปาทอด รับประทานกับน้ำจิ้มสูตรเฉพาะ.