โดย : ไพลิน รุ้งรัตน์


จากกรุงเทพฯ มุ่งตรงไปเมืองจันท์ (จันทบุรี) แต่ไม่หยุดแค่เมืองจันท์ หากกลับวิ่งผ่านศาลพระเจ้าตากสิน ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองออกไปทางตะวันออก ผ่านอำเภอมะขาม อำเภอโป่งน้ำร้อน มุ่งสู่อำเภอสอยดาว พอเลยสามแยกเข้า สภอ.สะตอนหรือทางแยกเข้าสวนส้ม ตลาดชายแดนเขมร ให้ชะลอรถ ทางซ้ายมือจะมีป้ายเหมือนชวนให้เข้าวัดติดไว้ ป้ายเก่า ๆ ที่ว่า “เข้าวัดวันละนิดจิตแจ่มใส” นั่นแหละค่ะ ตรงป้ายนั้นหักเลี้ยวเข้าไปเลย คุณก็จะพบต้นไม้ยืนระเกะระกะ ทางซ้ายเป็นอาคารคล้ายตึกแถวสามห้องเรียงกัน ทางขวาเป็นบ้านไม้เก่า ๆ

จอดค่ะ จอด นี่แหละคือบ้านนักเขียน บ้านของ “กาญจนา นาคนันทน์” หรือ นงไฉน ปริญญาธวัช นักเขียนในดวงใจนักอ่านอีกคนหนึ่ง ผู้สร้างรอยยิ้มให้นักอ่านได้เสมอ อาทิ จากผลงานชุด ผู้กองยอดรัก ยอดรักผู้กอง และผู้กองอยู่ไหน ชื่นชีวานาวี สาวใช้คนใหม่ ข้าพเจ้าคุ้นเคยกับบ้านหลังนี้ เพราะแวะเวียนมาเป็นประจำ แต่วันนี้รู้สึกว่ามีอะไรแปลก ๆ อยู่โดยรอบบริเวณ คล้ายเป็นการเคลื่อนไหวอะไรบางอย่าง พอเพ่งพินิจจริงจังก็ปรากฏว่า เป็นแมวสีสันต่าง ๆ กันไปที่ซุกซ่อนตัวอยู่ตามที่ต่าง ๆ ในร่มไม้ ในกอหญ้า เบื้องหลังต้นไม้ เบื้องหลังลังกระดาษ

ข้าพเจ้าก้าวเข้าไปใกล้บ้านอีกและส่งเสียงเรียก “อาจารย์ขา อยู่ไหน” อาจารย์นงไฉนรับคำว่า “อยู่นี่ค่า” พอโผล่หน้าเข้าไปก็เห็นอาจารย์นั่งอยู่ที่เก้าอี้ ในมือถักไหมพรมง่วน แมวอีกหลายตัวซึ่งแอบซ่อนอยู่ตามซอกหลืบ มุมตู้ ขั้นบันไดหลบกันวูบวาบ
“อาจารย์ขา มาคราวนี้แมวพี่เหนียนเยอะจัง”
พี่เหนียนก็คือคุณเฉนียน ซึ่งเป็นพี่สาวอายุเก้าสิบกว่า รักแมวเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อห้าปีที่แล้วที่น้องสาวหอบหิ้วเอาพี่สาวจากกรุงเทพฯ มาสอยดาวนั้น พี่สาวได้นำสมบัติสุดรักนี้ติดตัวมาด้วย แต่แมวพี่เหนียนนั้นจะอยู่ที่ตึกแถวซึ่งเป็นที่ที่พี่เหนียนพักอยู่ ไม่ค่อยได้ข้ามมาบ้านอาจารย์นงไฉน แต่ปีนี้ แมวที่บ้านอาจารย์นงไฉนมิได้ทำท่าเป็นแมวบ้านพี่เหนียนแม้แต่น้อย
“ใช่” อาจารย์นงไฉนว่า “มันก็ออกลูกของมันมาเรื่อย ๆ”
ข้าพเจ้ามองออกไปที่พงหญ้าหน้า เห็นลูกแมวสองสามตัวกระโดดกันวุบวับ
“กี่ตัวแล้วคะ อาจารย์”
“สิบหก” อาจารย์นงไฉนตอบสั้น ๆ
“สงสัยเรื่องต่อไปจะชื่อยายแมวยอดรัก”
อาจารย์นงไฉนหัวเราะ
“ดิฉันยังเขียนหนังสือไหวอยู่นะ” ทำเสียงจริงจัง
“บอกแฟน ๆ ได้ไหมคะว่าจะเขียนเรื่องอะไร แฟนคอยอยู่”
“ไม่ได้” อาจารย์ยิ้มพราย “บอกก็ไม่ขลังสิ”

หลังจากนั่งสนทนากันอยู่พักหนึ่ง คุณโอ่งและคุณจ้อย คนรุ่นใหม่ที่ยังสนใจ “กาญจนา นาคนันทน์”ก็ตามมาสมทบ โอ่งเป็นผู้หญิงและเคยเป็นลูกศิษย์ที่นิเทศศาสตร์ของข้าพเจ้ามาก่อน ส่วนคนชื่อจ้อยนั้นเป็นเพื่อนโอ่ง ตามหากาญจนา นาคนันทน์มานานแล้ว ด้วยหวังจะหาข้อมูลเกี่ยวกับทุ่งรังสิตของเรื่องผู้ใหญ่ลีกับนางมา จ้อยซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเขียนนวนิยายเรื่องโด่งดังที่เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนมาหลายยุคหลายสมัย
“ท้องนาท้องไร่มีจริง และคนที่มาเป็นตัวละครก็มีจริง ๆด้วย”
อาจารย์นงไฉนยืนยัน “แต่รายละเอียดเรามาแต่งเติมเสริมต่อเอาเอง”
จ้อยอัดเทปและซักถามอย่างจริงจัง เขาไปตามรอยผู้ใหญ่ลีนางมาที่ทุ่งรังสิตมาเรียบร้อยแล้ว และยืนยันได้ว่าอะไรยังอยู่และอะไรเปลี่ยนไปหมดแล้ว

“พี่เป็นลูกชาวนา..”อาจารย์ยืนยัน “แม่เป็นชาวนาแท้ ๆ เพราะฉะนั้นจำรสชาติของการทำนาได้ ตอนนั้นยังเป็นเด็ก อายุไม่กี่ขวบ” อาจารย์เกิดที่ชัยภูมิ เมื่อปี ๒๔๖๔ ปัจจุบันอายุ ๘๕ เต็มย่าง ๘๖ แล้ว มีชีวิตที่ต้องต่อสู้มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปัญหาสุขภาพ เนื่องจากหลังจากคลอดลูกแล้ว อาจารย์นงไฉนเกิดอาการที่เรียกว่าเดินไม่ได้ “เป็นง่อย” อาจารย์ว่า จึงต้องดูแลรักษาตัวเองอย่างเข้มงวด รวมทั้งออกกำลังสม่ำเสมอโดยการเล่นโยคะ ข้าพเจ้าจำได้ว่า อาจารย์เคยทำท่าก้มศีรษะจนชิดพื้นให้ดู ทั้งที่อายุมากแล้ว

นอกจากนวนิยายรักที่กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของกาญจนา นาคนันทน์แล้ว อาจารย์นงไฉนยังมีความถนัดอีกเรื่องหนึ่งคือ การเขียนเรื่องเด็ก มีผลงานได้รับรางวัลมาแล้วหลายเล่ม อาทิ “โลกกว้าง” ได้รับรางวัลยูเนสโก ประเภทส่งเสริมคุณค่าทางศีลธรรม ประจำปี ๒๕๑๑ “สามดรุณ” ได้รับรางวัลชมเชยประเภทหนังสือสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษา ประจำปี ๒๕๒๐ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และในปี ๒๕๒๑ ในการประกวดรางวัลบัวหลวง เรื่อง “บุญส่ง” ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทชีวประวัติบุคคลตัวอย่างสำหรับเด็กประถมศึกษาตอนปลาย และเรื่อง “บ้านหนูอยู่หาดเสี้ยว” ได้รับรางวัลที่ ๓ ประเภทส่งเสริมอาชีพที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และ “ แม่ ไต้ฝุ่นมาแล้ว” ได้รับรางวัลชมเชยประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น ประจำปี ๒๕๓๓ “ชอบเขียน” อาจารย์ว่า “อยากส่งเสริมให้เด็กด้อยโอกาสได้พัฒนาตนเองไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นในทางที่ถูกต้องทำนองคลองธรรม”

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อสามปีที่แล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ฟังเรื่องที่อาจารย์นงไฉนไปหาข้อมูลในห้องเรียนเด็กประถมชั้นปีที่ ๑ โดยการขอไปนั่งสังเกตพฤติกรรมการเรียนของเด็ก เพื่อจะนำไปเป็นข้อมูลประกอบการเขียนเรื่องศาสนาสำหรับเด็ก ปรากฏว่า คุณครูประจำชั้น ป.๑ ตกใจมากที่นักเขียนใหญ่เข้าไปนั่งอยู่ในห้องเรียน จึงหนีออกนอกห้องไม่ยอมสอน ปล่อยให้คุณยายนั่งอยู่กับเด็ก ๆ ตามลำพัง คุณยาย “กาญจนา นาคนันทน์” นั่งอยู่ได้สี่ห้าวัน ก็ยกธงขาวยอมแพ้ เพราะเหตุว่ากลัวแก้วหูร้าว เนื่องจากเสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็ก ๆ เล่ากันไปก็หัวเราะกันไปครึกครื้นราวกับเป็นคนรุ่นเดียวกัน

จ้อยลุกขึ้นขอถ่ายรูปนักเขียนใหญ่ อาจารย์นงไฉนร้องว่า ไม่เอาหรอก ไม่เอาเสื้อไม่สวย เราก็เลยพากันไปหยิบเอาเสื้อตัวใดตัวหนึ่งแถว ๆ นั้นมาให้อาจารย์ใส่ทับ ตาก็เลยมองไปเห็นกล้วยพิสดารเรียกว่ากล้วยแปลกวางอยู่ในถาด
“กล้วยหักมุกหรือคะ” ผู้มาเยือนถาม
“ไม่ใช่” อาจารย์หัวเราะ “เขาเรียกกล้วยตีบ…ที่ไหนก็ไม่มีแล้วนะ กำลังจะสูญพันธุ์” เราเอากล้วยที่หน้าตาเหมือนกล้วยหักมุกแต่สั้นกว่ามาเล็งแลกันใหญ่ กล้วยตีบ ฟังชื่อแล้วมืดมน อาจารย์จึงอธิบายสรรพคุณและชื่อว่า “มันเป็นกล้วยสมุนไพรของผู้หญิง” พอเข้าใจแล้วเราก็เลยหัวเราะกันอีกหลายคิก
เราจับจูงอาจารย์นงไฉนเข้าวอลคเกอร์เดินไปถ่ายรูปตามมุมต่าง ๆ พอหอมปากหอมคอ แล้วจึงชักชวนกันออกไปถ่ายรูปนอกบ้าน แมวในพงหญ้ากระโดดกันกระจุยกระเจิง หายวับไปในพริบตา จ้อยเล็งแล้วเล็งอีก ร้องแต่ว่า สวยครับ

“ผู้กองยอดรักจะเป็นละครอีกแล้วนะ” อาจารย์นงไฉนบอก ก่อนจากกันในวันนั้น เรากราบลา “กาญจนา นาคนันทน์” ลาต้นไม้น่ารักในบริเวณบ้าน ลาแมวสิบหกตัว และลาป้าย “เข้าวัดวันละนิด จิตแจ่มใส” แล้วจึงเลยไปกินก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงของอร่อยของเมืองจันท์ ก่อนแยกย้ายกันไป หลังจากนั้น โอ่งกับจ้อยส่งรูปน่ารักของ “กาญจนา นาคนันทน์”มาให้ เห็นแล้วอยากให้นักอ่านได้คิดถึงนักเขียนในดวงใจทั่วหน้ากัน จึงนำมาฝาก ณ ที่นี้

——————


***เครดิต ภาพประกอบจาก วิกิพีเดียห์/ch3plus/ https://mgronline.com/drama/detail/9570000060793