ถึงเดือนสิบเห็นกันเมื่อวันสารท

ใส่อังคาสโภชนากระยาหาร

กระยาสารทกล้วยไข่ใส่โตกพาน

พวกชาวบ้านถ้วนหน้ามาธารณะ

บทกล่าวนำนิราศเดือน
นายมี (เสมียนมี) หมื่นพรหมสมพัตสรหรือหลวงศุภมาตรา

ขนมไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย รากศัพท์คำว่าสารท เป็นคำในภาษาอินเดีย ที่มีความหมายว่า “ฤดูใบไม้ร่วง” ซึ่งเป็นฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร จากความเชื่อของชาวอินเดียที่ผูกพันอยู่กับเทพเจ้าในธรรมชาติ ผลผลิตได้จากการเก็บเกี่ยวคราวแรก จะถูกนำไปแปรรูป เพื่อบวงสรวงบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อ  วัฒนธรรมและประเพณีในฤดูกาลเก็บเกี่ยวและพิธีกรรมที่แสดงความขอบคุณต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้แพร่มาสู่คนไทยและชาวอุษาคเนย์ที่ทำกสิกรรม 

กระยาสารทจึงเป็นหนึ่งอาหารในเทศกาลที่เป็นธรรมเนียมการปรุงของชาวบ้านทั่วไป โดยจะนำพืชพรรณธัญญาหารผลผลิตแรกเก็บเกี่ยว เช่นตอกที่ได้จากการคั่วข้าวเหนียวให้แตก ถั่วลิสง งาขาว และข้าวเม่า กวนรวมกับน้ำอ้อยและกะทิ ได้เป็นขนมกรอบรสชาติหอมหวานจากพืชพรรณธัญญาหาร นิยมทานคู่กับกล้วยไข่

SORR3355 8405

“กระยาสารทของเราโบราณจริง ๆ สมัยก่อนลูกมากซื้อกินก็แพง ต้องทำกินเอง สมัยนี้กระยาสารทสูตรโบราณก็หายาก ที่มีโดยมากก็ใส่กะทิ แต่สูตรโบราณไม่ใส่กัน” 

คุณวารี  ฤทธิ์คำรพ ผู้สืบทอดกระยาสารทสูตรโบราณ-ชุมชนวัดไทยาวาส(ท่ามอญ) นครชัยศรี

จากหนังสือ : ตำรับเก่าเล่าเรื่อง ณ เมืองนครชัยศรี

จัดพิมพ์โดย 

โครงการวิจัยจากเก่าสู่เก๋า นวัตกรรมอาหารไทยโบราณ-มรดกทางวัฒนธรรม ที่ล้ำค่าของมณฑลนครชัยศรี
ผศ.ดร.ศริยามน ติรพัฒน์ : ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย

เรียบเรียง : สุชาติ ชูลี

ภาพประกอบ:ศรยุทธ รุ่งเรือง